ประวัติวันเยาวชนแห่งชาติ
วันเยาวชนแห่งชาติได้เริ่มมีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2528 หลังจากที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ปี พ.ศ. 2528 เป็นปีเยาวชนสากล ดังนั้น เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2528 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติกำหนดให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปีเป็นวันเยาวชนแห่งชาติ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ แห่งราชวงค์จักรีถึงสองพระองค์ คือ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468
และพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ได้ขึ้นครองราชสมบัติขณะยังทรงพระเยาว์
นอกจากนี้ยังได้มีการส่งเสริมให้เยาวชนที่กระจายกันทั่วประเทศ ได้ตระหนักว่าเยาวชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการพัฒนาชาติให้มีความมั่นคงและเจริญรุ่งเรือง โดยเริ่มจากการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีค่านิยมที่ถูกต้อง ภูมิใจและหวงแหนและอนุรักษ์ไว้ซึ่งความเป็นไทย อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย รู้จักการอดออมและประหยัดรวมทั้งการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
นอกจากหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานภาคเอกชนก็มีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาและส่งเสริมให้เยาวชนของชาติเป็นทรัพยากรบุคคลมีคุณภาพ และสถาบันทีมีความสำคัญเป็นอันดับแรกในการพัฒนา คือ สถาบันครอบครัว ซึ่งหากผู้ปกครองมีความเข้าใจ เอาใจใส่ ดูแล ทนุถนอม ให้ความรักความอบอุ่นแก่เยาวชนที่อยู่ในความปกครองอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะมีส่วนเป็นอย่างมากในการที่จะนำพาเยาวชนให้เป็นบุคคลที่มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม ซึ่งจะพาประเทศชาติให้เจริญรุงเรืองต่อไปในภายภาคหน้า
ความหมายคำว่าเยาวชน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า “เยาวชน” ไว้ดังนี้ (ราชบัณฑิตยสถาน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หน้า 673)
เยาวชน หมายถึง บุคคลที่มีอายุเกิน 14 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ และไม่ใช่ เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้วด้วยการสมรส
องค์การสหประชาชาติ (สุภักดิ์ อนุกูล วันสำคัญของไทย, หน้า 82) ได้ให้ความหมายสากลของคำว่า เยาวชน หมายถึง คนในวัยหนุ่มสาว คือ ผู้มีอายุระหว่าง 15 – 25 ปี
เยาวชน เป็นกลุ่มคนที่มีพลังอันสำคัญที่สามารถช่วยกันเสริมสร้างกิจกรรมที่เป็น ประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต เยาวชนควรตระหนักในคุณค่าของตนเองที่ร่วมแรงร่วมใจ สามัคคี และเสียสละส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มีคุณธรรม จริยธรรม และสติปัญญาอันชาญฉลาด ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามแก่สังคม และนำพาประเทศชาติสู่ความเจริญรุ่งเรือง
เป้าหมายของวันสำคัญ มี 3 ประการ คือ
เพื่อให้เยาวชนช่วงอายุ 15 – 25 ปี ได้ตระหนักนึกความสำคัญในการพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชน พัฒนาประเทศ
เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อประเทศชาติทั้งในด้านคุณภาพคุณธรรม
เพื่อให้นโยบายส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง สัมฤทธิ์ผล
กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเยาวชนแห่งชาติ
จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ความสำคัญ หน้าที่ ของเยาวชนเพื่อให้เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้ตระหนักและเข้าใจ
ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมสาธารณประโยชน์กิจการเพื่อการกุศล กิจกรรมในชุมชน ฯลฯ
คำขวัญวันเยาวชนแห่งชาติ
องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ปี 2528 เป็นปีเยาวชนสากล โดยใช้คำขวัญ Participation, Development and Peace ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้วันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชาติ และมอบคำขวัญที่ถอดความเป็นภาษาไทยว่า ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติ ซึ่งมีความหมายละเอียดลึกซึ้งต่อเยาวชนทุกคน สามารถยึดถือและนำไปปฏิบัติดังนี้
ร่วมแรงแข็งขัน (participation) หมายถึง การยอมรับในศักยภาพของแต่ละบุคคล ที่จะสามารถวินิจฉัยและตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง และตระหนักว่าตนมีโอกาส ได้ใช้โอกาสและพึงพอใจที่ได้ใช้โอกาสด้วยตนเองอย่างเกิดคุณค่าโดยไม่ตกเป็น เครื่องมือของผู้ใด การที่เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมและมีบทบาทต่อชาติบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่ นั้น เป็นความสำเร็จของสังคมและประเทศชาติที่สำคัญ
ช่วยกันพัฒนา (development) การพัฒนานั้นมองได้ 2 มิติ มิติหนึ่งคือ การพัฒนาตนเองของแต่ละบุคคล และอีกมินิหนึ่งคือ การพัฒนาสังคมและประเทศชาติ หากบุคคลพัฒนาตนเองได้ดีก็จะเป็นกำลังสำคัญ และอีกมิติหนึ่งคือการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ หากบุคคลพัฒนาตนเองได้ดีก็จะเป็นกำลังสำคัญและมีคุณค่าต่อการพัฒนาสังคมและ ประเทศชาติ ขณะเดียวกัน การพัฒนาสังคมและประเทศชาติก็จะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาของบุคคลด้วย กระบวนการพัฒนา 2 ส่วนนี้ จึงมีความต่อเนื่อง สัมพันธ์กัน และในสภาวะปัจจุบัน ความร่วมมือในระดับนานาชาติ จะมีผลอย่างสำคัญยิ่งต่อความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ
ใฝ่หาสันติ (peace) สันติภาพเป็นหลักการพื้นฐานของชีวิต ความต้องการสันติภาพ เป็นความต้องการของสากลโลก ซึ่งทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันเพื่อให้เกิดสันติภาพและดำรงคงไว้ คนหนุ่มสาวจึงต้องร่วมมือกันในเรื่องนี้ ผลักดันให้เกิดมาตรการที่จะสร้างความเชื่อมั่นในวิถีการพัฒนาด้วยสันติ และสร้างสำนึกสันติภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังสั่งสอนเยาวชนให้รู้จักเคารพในศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน มีความอดกลั้น ความเป็นประชาธิปไตย และเสรีภาพพื้นฐาน