“Right to Health : สิทธิสุขภาพ ปราศจากตีตรา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” คำขวัญ “วันเอดส์โลก ปี 2560”
เอดส์ …. “สิทธิสุขภาพ ปราศจากตีตรา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”
วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันเอดส์โลก ซึ่งเป็นวาระสําคัญที่ทุกประเทศทั่วโลก ร่วมกันรณรงค์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอดส์ ที่ผ่านมาการติดเชื้อเอชไอวีนับว่าเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สําคัญ และส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมต่อทุกประเทศทั่วโลก จากรายงานของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติพบว่า ในปี 2559 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกสะสม 36.7 ล้านคน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1.8 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคเอดส์ 1 ล้านคน โดยมีผู้ติดเชื้อที่ได้รับยาต้านไวรัสแล้วประมาณ 19.5 ล้านคน
สําหรับประเทศไทย จากการคาดประมาณจํานวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี คาดว่าในปี พ.ศ. 2560 มีผู้ติดเชื้อที่มีชีวิตอยู่ประมาณ 442,127 คน ผู้ติดเชื้อรายใหม่ประมาณ 5,801 คน เฉลี่ยวันละ 16 คน โดยมีผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยและรู้สถานะการติดเชื้อตนเองแล้วประมาณ 431,270 คน คิดเป็นร้อยละ 98 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่กําลังรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอยู่ประมาณ 302,174 คน คิดเป็นร้อยละ 70 ของผู้ติดเชื้อที่ได้รับการวินิจฉัยแล้ว ปัจจุบันประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 โดยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560 – 2573 มีเป้าหมายหลัก 3 ข้อ คือ ลดจํานวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ให้เหลือปีละไม่เกิน 1,000ราย ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเหลือปีละไม่เกิน 4,000ราย ลดการรังเกียจและการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศสภาพลงร้อยละ 90 โดยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานที่สําคัญ คือ ขยายและจัดชุดบริการผสมผสานการป้องกันและปรับพฤติกรรมเชิงรุก ทําให้การตรวจการติดเชื้อเอชไอวีเป็นเรื่องปกติ เตรียมความพร้อมในการจัดบริการตรวจหาการติดเชื้อแบบรู้ผลวันเดียว และรณรงค์ให้มีการตรวจเลือดหาการติดเชื้อด้วยความสมัครใจได้ฟรีปีละ 2 ครั้งทุกสิทธิการรักษา ส่งเสริมการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีด้วยยาต้านไวรัสแต่เนิ่น ๆ ในทุกคนที่ตรวจพบ รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ติดเชื้อกินยาสม่ำเสมอ ดําเนินงานเพื่อลดปัญหาจากการรังเกียจ ตีตรา และเลือกปฏิบัติ รวมถึงพัฒนาและนําเทคโนโลยีและ/หรือรูปแบบบริการใหม่ที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมในแต่ละกลุ่มเป้าหมายมาเสริมในชุดบริการ
ความท้าทายสําหรับการยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทย คือการทําให้ประชาชนมาตรวจเอชไอวีให้มากขึ้น และจัดบริการส่งเสริมสุขภาพการป้องกัน ให้ผู้ที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีจะไม่ติดเชื้อตลอดไป ผู้ที่ติดเชื้อแล้วก็ได้รับบริการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพชีวิต ครอบครัวดีและสังคมโดยรวมดีขึ้น ในขณะที่ภาครัฐส่งเสริมการเข้ารับบริการสุขภาพโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติหรือตีตรา โดยคํานึงถึงหลัก 5 ประการ คือ การเข้าถึงบริการ การยอมรับ การจัดให้มีบริการ คุณภาพของบริการที่ดี และการไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง จึงอยากให้ประชาชนและทุกภาคส่วนกระตุ้นให้ท่านที่ประเมินว่าตนเองมีโอกาสเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวี เข้ารับบริการให้คําปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งได้ฟรี มาร่วมกันยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรากันนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจากโรงพยาบาลลำปาง http://www.lph.go.th/lampang/index.php/healthy1/2072-2017-11-17-03-01-305a0d4acb64882