วันอสม.แห่งชาติ
อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2536 ให้วันที่ 20 มีนาคม ของทุกปี เป็นวัน อสม.แห่งชาติ (วันอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งชาติ) เพื่อเป็นการสร้างขวัญและ กำลังใจให้แก่ อาสาสมัคร ที่ได้สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประเทศไทย
ทั้งนี้เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณและ สร้างขวัญกำลังใจให้แก่อาสาสมัคร จึงได้มีการมอบรางวัล อาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่น และ หมู่บ้านสาธารณสุขมูลฐานดีเด่น อีกทั้งยังมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก่อาสาสมัคร ระดับชาติอีกด้วย
อาสาสมัครสาธารณสุข คือ บุคคลที่มีความสมัครใจ เสียสละ ทำงานเพื่อสังคม เพื่อส่วนรวม ในด้านการพัฒนาสุขภาพ ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข และไม่ได้รับผลตอบแทนเป็นรายเดือน โดยมีชื่อย่อว่า “อสม” สามารถแบ่งได้ 4 ประเภท ดังนี้
1. อาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ภูมิภาค หมายความว่า อาสาสมัครสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ส่วนภูมิภาค ทั้งในเขตชนบทและเขตเมือง รวมถึงเมืองพัทยา เรียกว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
2. อาสาสมัครสาธารณสุข ในเขตกรุงเทพมหานคร หมายความว่า อาสาสมัครสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เรียกว่า อาสาสมัครกรุงเทพมหานคร (อสส.)
3. อาสาสมัครสาธารณสุข ของหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ที่ผ่านการอบรมตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (อสม.กฟผ.) และอาสาสมัครสาธารณสุขขนส่งมวลชน (อสม.ขสมก) ฯลฯ
4. อาสาสมัครสาธารณสุขกิตติมศักดิ์ หมายความว่า บุคคลผู้ทำคุณประโยชน์หรือสนับสนุนการดำเนินงานของอาสาสมัครสาธารณสุข
อาสาสมัครสาธารณะสุข
อาสาสมัครสาธารณะสุข
วัตถุประสงค์ ในการดำเนินงานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ได้แก่
1. เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพกันเองด้วยวิธีที่ง่ายประหยัด และทั่วถึง
2. เพื่อช่วยบรรเทาภาวะขาดแคลนบุคลากรทางด้านสาธารณสุขในชนบท
3. เพื่อแก้ไขปัญหารักษาพยาบาลหรือดูแลรักษาสุขภาพที่ไม่ถูกต้องของประชาชน
ผู้ที่จะเข้ามาเป็นอาสาสมัครในการดูแลสุขภาพ อนามัยของเพื่อนบ้านโดยมิหวังผล ตอบแทนใดๆ เรียกว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ควรมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. มีความสมัครใจที่จะทำงานเพื่อส่วนรวมด้วยความเสียสละ และมีเวลาพอที่จะช่วยเหลือชุมชน
2. มีความรู้อ่านออกเขียนได้
3. เป็นผู้ที่ชาวบ้านไว้วางใจ
4. มีที่อยู่อาศัยและประกอบอาชีพในหมู่บ้านนั้น ๆ
5. มีอาชีพแน่นอนและมีรายได้เลี้ยงตนเอง
6. ตั้งบ้านเรือนอยู่ในสถานที่ที่ประชาชนไปติดต่อได้ง่าย
7. ไม่จำกัดเพศ และไม่จำกัดอายุ
8. ไม่ควรเป็นข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแพทย์ประจำตำบล