วัดพระธาตุดอยม่วงคำ
วัดพระธาตุดอยม่วงคำตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ ระหว่างอำเภอเมืองและอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปางอยู่ห่างจาก อำเภอเมือง ลำปางประมาณ 20 กิโลเมตร บนเส้นทางสาย ลำปาง – แม่ทะ ประวัติวัดพระธาตุดอยม่วงคำ เกิดขึ้นมาหลายร้อยปีมาแล้ว แต่ไม่มีหลักฐาน แน่นอน มีแต่ตำนานเล่าขานเรื่อง “ผาสามเศร้า – หมาขนคำ” มาเป็นเวลาช้านาน
วัดพระธาตุม่วงคำ หรือเรียกว่า วัดดอยม่วงคำ เป็นวัดชั้นราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่วัด 13 ไร่ 2 งาน เดิมพื้นที่วัดเป็นป่าเขา ต่อมามีค้นพบฐานเจดีย์เก่าซึ่งสอดคล้องในตำนานหมาขนคำของคนโบราณ พระครูรัตนโศภณ(หลวงพ่ออิ่น) อดีตเจ้าคณะอำเภอแม่ทะ อดีตเจ้าอาวาสวัดเมืองศาสน์ ร่วมกับหลวงพ่อเมือง วัดท่าแหน พระเกจิอาจารย์ชื่อดังของ จังหวัดลำปางได้ทำการสร้างวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2468 และได้รับความอุปถัมภ์สมณะศรัทธา เช่น พระครูสุเวทกิตติคุณ(หลวงปู่บุญชุบ) วัดเกาะวารลุการาม อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง และชาวบ้านทั่วไป ตลอดจนถึงคณะศรัทธาอำเภอแม่ทะ และคณะศรัทธาตำบลกล้วยแพะ และศรัทธาทั่วสารทิศจำนวนมาก โดยหลวงพ่อพระครูรัตนโสภณ ได้ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนเจ้าอาวาสรูปแรก ตั้งแต่ พ.ศ.2468-2512 เป็นเวลา 44 ปี จนท่านได้มรณภาพ จากนั้นวัดพระธาตุม่วงคำ ก็เป็นวัดร้างถึง 21 ปี ต่อมาก็มี พระอธิการทินพันธ์ ทินฺนวโร จากวัดเมืองศาสน์ อ.เมืองลำปาง มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส และที่วัดพระธาตุดอยม่วงคำนี้จะจัดงานสรงน้ำพระธาตุทุกปี ซึ่งงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุประจำปีจะตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 9 เหนือ ซึ่งมีงานสมโภชอย่างใหญ่โต
วัดพระธาตุดอยม่วงคำนี้ก็เป็นแหล่งกำเนิดตำนานที่ลือลั่นแห่งหนึ่งของ เมืองลำปาง เรียกกันว่าตำนานหมาขนคำ หรือ หมาขนสีทองคำซึ่งตำนานหมาขนคำ เล่าว่านานมาแล้วมีนายพรานคนหนึ่งได้เลี้ยงหมาตัวเมียมีขนสีทองจึงเรียกกัน ว่าหมาขนคำไว้หนึ่งตัว และในย่านนั้นไม่มีหมาตัวผู้อยู่เลย วันหนึ่งแม่หมาเกิดตั้งท้องขึ้นมา นายพรานเกรงจะถูกชาวบ้านครหาว่ามีเมียเป็นหมา จึงคิดจะกำจัดแม่หมา บ้านของนายพรานอยู่ในย่านบ้านเหล่าปลดริมป่า คือบ้านเสาสูงแบบเรือนต้นไม้ ราวบันไดปลดเก็บขึ้นไว้บนเรือนเพื่อป้องกันมิให้สัตว์ร้ายขึ้นเรือนไปทำร้าย ชีวิตคนบนบ้านได้ เย็นวันหนึ่ง นายพรานปลดบันไดบ้านเก็บไว้บนบ้านโดยทิ้งแม่หมาไว้ข้างล่าง โดยหวังที่จะให้เสือมาคาบแม่หมาเอาไปกิน แม่หมาก็วิ่งหนีไปถึงดอยผาสามเส้าริมดอยวัดม่วงคำ (เขตอำเภอแม่ทะ) แล้วคลอดลูกแฝดเป็นเด็กหญิงน่ารักสองคน ในแต่ละวันแม่หมาก็ไปหาอาหารมาเลี้ยงลูกน้อย และคาบเสื้อผ้าที่ชาวบ้านตากไว้บนราวตากผ้านำไปให้ลูกสาวสวมใส่
จนกระทั่งเวลาผ่านไปลูกสาวฝาแฝดทั้งสองคนเติบโตเป็นหญิงสาว คนพี่ชื่อ นางเจตะกา คนน้องชื่อนางบัวตอง กิตติศัพท์ความสวยงามของหญิงสาวทั้งสองกระฉ่อนไปถึงในเมือง
เมื่อพระยาปลัมมะโฆษา เจ้าเมืองทราบข่าว ปรารถนาจะได้ธิดาแฝดไปเป็นมเหสีซ้ายขวา ก็จัดขบวนวอทองไปรับสองธิดาแฝดที่ดอยผาสามเส้าขณะที่แม่หมาไม่อยู่ ธิดาแฝดบัวตองผู้น้องแสดงความเสียใจร้องไห้คร่ำครวญถึงแม่หมา ส่วนผู้พี่มีทีท่าตื่นเต้นที่มีวาสนาจะได้เข้าไปอยู่ในวัง พระยาปลัมมะโฆษา เจ้าเมืองได้สร้างปราสาทสองหลังให้นางเจตะกาและนางบัวตองอยู่คนละหลัง ฝ่ายแม่หมาเมื่อกลับมาถึงผาสามเส้าก็พบว่าลูกสาวหายไป แม่หมาก็เห่าหอนและตะกุยหน้าผาจนเป็นรอยคล้ายเล็บเท้าฝังในเนื้อหินผาที่ชาว บ้านเรียกว่ารอยตีนหมาขนคำร้องไห้หาลูกสาว มาจนทุกวันนี้ ร้อนถึงพระอินทร์เวทนาแม่หมาจึงเนรมิตให้แม่หมาพูดได้ แม่หมาจึงเดินทางติดตามหาลูกสาวถึงในเมือง แม่หมาได้ถามไถ่ชาวบ้านมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาถึงปราสาทของนางเจตะกา ทหารได้ซักถามแม่หมาว่ารู้จักและเกี่ยวข้องกับนางเจตะกาอย่างไร แม่หมาก็บอกว่านางเจตะกาเคยเป็นนายเก่ามาก่อน ครั้นเมื่อทหารนำความมาแจ้งแก่นางเจตะกา นางเจตะกากลัวว่าจะอับอายที่มีแม่เป็นหมา จึงสั่งให้ทหารทำร้ายแม่หมาจนได้รับบาดเจ็บจนต้องวิ่งหนีไป
แม่หมาได้รับบาดเจ็บก็วิ่งมาถึงปราสาทนางบัวตอง นางบัวตองรีบวิ่งมารับแม่หมานำเข้าไปในปราสาทเพื่อเยียวยารักษา ให้ข้าวให้น้ำแก่แม่หมา นางบัวตองได้ทูลขอหีบขนาดใหญ่จากสวามีโดยบอกว่าจะเอาไปขนสมบัติที่ผาสามเส้า ภายในกำหนดเวลาเจ็ดวัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว นางบัวตองได้นำหีบไว้เป็นที่ซ่อนของแม่หมาในวัง เมื่อครบเจ็ดวันแล้ว แม่หมาทนพิษบาดแผลไม่ไหวก็สิ้นใจตาย พระอินทร์ได้เนรมิตร่างแม่หมาให้กลายเป็นแก้วแหวนเงินทอง เมื่อพระยาเจ้าเมืองพบว่ามีแก้วแหวนเงินทองเต็มหีบ พระองค์ก็โปรดปรานนางบัวตองเป็นอันมาก พระองค์ก็ให้นางบัวตองไปขนสมบัติที่ผาสามเส้าอีกครั้งหนึ่ง นางบัวตองมีความเสียใจที่แม่หมาเสียชีวิต นางจึงคิดจะกระโดดหน้าผาจะฆ่าตัวตาย แต่บริเวณข้างล่างของหน้าผาเป็นที่อยู่ของยักษ์ซึ่งป่วยเป็นฝีกลัดหนองเจ็บ ปวดมาก เมื่อนางบัวตองกระโดดลงไปกระทบกับร่างของยักษ์ทำให้ฝีแตก ยักษ์จึงหายปวดเป็นปลิดทิ้ง ยักษ์จึงมอบทรัพย์สมบัติให้นางบัวตองเป็นอันมาก นางบัวตองจึงนำสมบัติกลับวังมาถวายพระยาปลัมมะโฆษา
ฝ่ายนางเจตะกา เมื่อทราบข่าวว่านางบัวตองไปขนสมบัติที่ผาสามเส้า นางก็รู้สึกอิจฉานางบัวตอง นางจึงอาสาพระยาปลัมมะโฆษา จะไปขนสมบัติที่ผาสามเส้าบ้าง เมื่อไปถึงผาสามเส้านางเจตะกาก็กระโดดหน้าผาตามที่นางบัวตองแนะนำ แต่เป็นด้วยนางเป็นคนไม่ดีขึ้นไปบนหน้าผาเห็นนางยักษิณีผีเสื้อห้วยนอนหลับอยู่ นางก็ยกเท้าขึ้นเหยียบผีเสื้อสะดุ้งตื่น จึงพูดว่านางผู้นั้นหมิ่นประมาทกูและไม่รู้จักบุญคุณพ่อแม่บาปกรรมอันนั้นคงมาตามทัน จึงได้จับเอานางฉีกกินเป็นอาหาร
นางยักษิณีผีเสื้อห้วยยังไล่จับช้างที่นางบัวแก้วนั่งมากินเป็นอาหาร ณ สถานที่นั้นเรียกว่า โทกหัวช้าง จนถึงบัดนี
นับแต่นั้นมานางศรีบัวตองก็ได้อยู่ในปราสาทราชมณเฑียรร่วมกับพระยาปรมะโฆสาด้วยความสุขความเจริญ แล้วทรงมีพระราชบุตรสองพระองค์มีนามว่า เจ้าศรีบุญเรือง และเจ้าบุญศิริราชกุมาร และได้บำเพ็ญพระราชกุศลตราบเท่าสวรรคต แล้วได้ไปบังเกิดในสรวงสวรรค์เสวยทิพยสมบัติเป็นใหญ่กว่าเทพบุตรเทพธิดาทั้งหลายสุขเกษมสำราญในวิมานชั้นฟ้านั้น ตามตำนานพระธาตุดอยม่วงคำก็มีเท่านี้
ครั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว บุคคลทั้งหลายเหล่านี้ จึงได้กลับชาติมาเกิด ดังนี้
แม่สุนัข ได้มาเกิดเป็น นางปฏาจารา
นางศรีบัวตอง ได้เกิดเป็น นางพิมพา
ชายผู้เป็นเจ้าของไร่ เกิดมาเป็น พระเทวทัต
พญาช้าง เกิดมาเป็น สุปปะพุทธะ
พญางูเห่า เกิดมาเป็น นางบุตราเถรี
พญาหงส์ทอง เกิดมาเป็น อนาถบิณฑิกเศรษฐี
เจ้าศรีบุญเรือง เกิดมาเป็น พระราหุล
เจ้าบุญศรี เกิดมาเป็น นางอุบลวรรณาเถรี
พรานป่าผู้นั้น ได้เกิดมาเป็น พระอุทายีเถระ
ผีเสื้อยักษ์ ได้เกิดมาเป็น พระองคุลีมาร
พระยาปรมะโฆสา คือ พระตถาคตในกาลบัดนี้
จากนิทานโบราณคดีพื้นบ้านผาสามเส้า-เวียงนางตอง ของชาวจังหวัดลำปางก็ได้นำมาร้องเป็นทำนองพื้นเมืองมานานแล้ว ความจริงก็เป็นเรื่อง “ชาดก” อันสืบเนื่องจากการเสวยพระชาติในสมัยที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ ได้อาศัยอาณาเขตประเทศสยามแห่งนี้เป็นที่สร้างสมอบรมพระบรมโพธิสมภารมาหลายชาติหลายสมัย ดังตัวอย่างที่พระธาตุดอยม่วงคำแห่งนี้ ยังมีหลักฐานที่ตำนานกล่าวอ้างไว้จริงหลายแห่งเช่น ณ ผาสามเส้า ทางวัดได้สร้างรูปปั้นของนางบัวแก้ว นางบัวตอง และนางสุนัข ไว้เป็นอนุสรณ์ เพื่อเป็นที่กราบไหว้บูชา นอกจากบริเวณพระธาตุนี้ จะมีต้นมะม่วงป่า ๒ ต้นแล้ว ก็ยังมีรอยช้างหมอบ และรอยเท้าสุนัข เป็นต้น
และเป็นประเพณีทุกๆ ปี เทศบาลเมืองเขลางค์นครร่วมกับชาวตำบลกล้วยแพะ สืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น จัด “งานประเพณีสรงน้ำพระธาตุวัดดอยม่วงคำ” ขึ้น ซึ่งในปีนี้ นายไพฑูรย์ โพธิ์ทอง นายกเทศมนตรี ร่วมกับ ชุมชนในตำบลกล้วยแพะ จัดงานในวันแรม 8 ค่ำ เดือน 7 (แรม 8 ค่ำ เดือน 9 เหนือ) ตรงกับวันที่ 9 มิถุนายน 2558 วัตถุประสงค์เพื่อสืบสานและส่งเสริมประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรม สรงน้ำพระธาตุดอยม่วงคำ สวดเบิก/ทำบุญตามจุดต่างๆ 6 จุด และมหรสพสมโภช เช่น ซอพื้นเมือง, รำวงย้อนยุค และอื่นๆ อีกมาก
นายไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า วัดพระธาตุดอยม่วงคำ มีทางเข้าอยู่ในเขตเทศบาลเมืองเขลางค์นคร บริเวณชุมชนบ้านหัวฝาย หมู่ 4 ตำบลกล้วยแพะ ส่วนองค์พระธาตุอยู่ในเขตอำเภอแม่ทะ ซึ่งได้รับความนับถือจากชาวไทลื้อที่อาศัยอยู่ในเขตตำบลกล้วยแพะ และประชาชนในเขตอำเภอแม่ทะ โดยในอดีตมีการประกอบพิธีสรงน้ำพระธาตุ เพื่อเป็นการสักการะพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ในพระธาตุดอยม่วงคำ ซึ่งมีการปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านานจนเป็นประเพณี เมื่อถึงเดือนเก้าเหนือ ประชาชนชาวไทลื้อและศรัทธา พุทธศาสนิกชนทั่วทุกสารทิศจะขึ้นไปสักการะพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ดอยม่วงคำสถาน ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีพระบรมเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรจุใน องค์พระธาตุ จะมีการจัดงานจัดขึ้นปีละครั้งทุกเดือน 9 เหนือ บันไดทางขึ้นสู่พระธาตุจำนวนเกือบ 500 ขั้น อีกทั้งที่วัดดอยม่วงคำยังมีตำนาน “หมาขนคำ” ที่บอกเล่าสืบทอดกันมาช้านาน และมีรูปปั้นจำลองตัวละครในตำนานให้ได้สักการะอีกด้วย