วัดพระธาตุม่อนจำศีล
วัดพระธาตุม่อนจำศีล ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลพระบาท อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบพม่าโบราณที่เก่าแก่และทรงคุณค่า ภายในวัดมีเจดีย์ที่สำคัญ 3 องค์ด้วยกัน คือ พระบรมธาตุเจดีย์ทอง องค์ที่ 2 เรียกว่าเจดีย์อรหันต์ 8 ทิศ และเจดีย์พระฤๅษี และวิหารไม้สักโบราณที่มีสถาปัตยกรรมแบบพม่าอายุเก่าแก่ เป็นวัดสังกัดมหานิกาย “ปัจจุบันมีพระสงฆ์ประจำวัดทั้งหมด 5 รูปและสามเณรทั้งหมด 22 รูป และพระครูพิศาลภัทรกิจ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสในปัจจุบัน” (พระครูพิศาล ภัทรกิจ,สัมภาษณ์ 8 สิงหาคม 2563, เจ้าอาวาส) วัดม่อนจำศีลเป็นวัดที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจพระเจ้าทันใจเป็นพระพุทธรูปที่ใช้เวลาสร้างได้สำเร็จภายใน 1 วัน ดังนั้น พุทธศาสนิกชนจึงถือว่าพระเจ้าทันใจเป็นพระพุทธรูปที่บันดาลความสำเร็จให้แก่ผู้อธิษฐานขอพรได้อย่างทันใจการสร้างพระเจ้าทันใจมีลักษณะที่แปลกกว่าการสร้างพระพุทธรูปอื่นๆกล่าวคือมีการบรรจุหัวใจพระเจ้าคล้ายกับหัวใจมนุษย์และการบรรจุวัตถุมงคลสิ่งของมีค่าไว้ในองค์พระพุทธรูปด้วย ทั้งนี้วัดม่อนจำศีลไม่อาจรักษารูปแบบดั้งเดิมเหมือน เมื่อแรกสร้างไว้ได้เนื่องจากมีการบูรณะปฏิสังขรณ์การรื้อและการสร้างใหม่ของอาคารตลอดหน้า ประวัติศาสตร์โดยปราศจากการจดบันทึก คงเหลือในความทรงจำเป็น ประวัติศาสตร์บอกเล่า
ประวัติความเป็นมา
วัดม่อนจำศีลมีประวัติศาสตร์การก่อสร้างที่สัมพันธ์กับผู้คนหลากหลายกลุ่มชนชาติพันธุ์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ประเทศพม่ามีการเคลื่อนย้ายเข้ามาประกอบธุรกิจและลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวและธุรกิจอยู่ที่เมืองลำปาง จึงเกิดการหยิบยืมรูปแบบทางสถาปัตยกรรมแบบอย่างพม่ามาใช้ในการก่อสร้างเพื่อให้เชื่อมโยงกับสัมภาระทางวัฒนธรรมของตนเองในภูมิหลัง ประวัติศาสตร์บอกเล่า วัดม่อนจำศีลเป็นวัดสถาปัตยกรรมพม่าถูกปล่อยร้างมานาน ประวัติการก่อสร้างจึงไม่ทราบแน่ชัด แต่มีการค้นพบประวัติบางส่วนของวัด มีตำนานเล่าขานกันมาว่า เมื่อ 1,700 กว่าปีที่ผ่านมา เจ้าหลวงคำใหญ่ ครองเมืองกุกะนคร (พม่า) เป็นสหายกับเจ้าหลวงดำ ผู้ครองเมืองตุ๋ย (คงเป็นบ้านสบตุ๋ยในปัจจุบัน) ซึ่งช่วงระหว่างนั้นเมืองต่างๆมีการรบสู้กันเพื่อแย่งชิงอำนาจและไพร่พล เจ้าหลวงคำใหญ่พ่ายแพ้ข้าศึก เจ้าหลวงดำจึงช่วยพาหลบหนีมาซ่อนตัวในถ้ำของม่อน(ม่อนหมายถึงภูเขาที่ไม่สูงนัก)ด้วยความสงสารที่ต้องสูญเสียกำลังทหารไปถึง 542 คน เจ้าหลวงคำใหญ่ จึงมาถือศีลปฏิบัติธรรม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับทหารที่ล้มตายเหล่านั้น จึงเป็นที่มาของคำว่า “ม่อนจำศีล” ต่อมามีพระมหาป่า เมืองแปง ซึ่งเป็นพระกรรมฐาน ได้ธุดงค์มาพบเจดีย์ เห็นว่าเป็นวัดที่เก่าแก่และเป็นที่อันสงบวิเวกเหมาะสมที่จะปฏิบัติธรรม จึงได้เจริญกรรมฐานประจำอยู่ที่นี่ ต่อมาก็ได้มีผู้คนได้ทราบข่าวก็พากันขึ้นไปฟังธรรม เจริญกรรมฐาน ถวายทาน และก็ได้เกิดศรัทธาเลื่อมใสได้ช่วยกันสร้างวิหารหน้าซุ้มพระเจ้าทันใจ เพื่อเป็นที่บำเพ็ญกุศล ต่อมาในปี พ.ศ.2410 มีคหบดีชาวพม่า ชื่อ พ่อเลี้ยงประกาศิริ นำช่างฝีมือจากพม่าเมืองมัณฑะเลย์ เข้ามาบูรณะองค์พระเจดีย์ กำแพงแก้วทั้ง 4 ด้าน ซุ้มประตูทางเข้าวัด พ.ศ.2424 ได้เริ่มสร้างวิหารไม้สักขึ้น โดยชาวพม่าชื่อ หมิ่นใหม่ตะก๋า ต้นตระกูลโพติ๊ดพันธุ์ มีการสร้างบันไดทางขึ้นหน้าวัดฝั่งทางทิศเหนือ เป็นรูปสิงห์ปูนปั้นคู่ มีรูปเทวดาติดอยู่และซุ้มประตูโขงก่อนเข้าสู่ตัววิหารด้านบน อายุวิหารไม้สักโบราณหลังนี้นับถึงปัจจุบัน อายุไขได้ 139 ปี พ.ศ.2460 ได้มีการบูรณะองค์พระเจดีย์ประธานอีกครั้ง วัดแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นวัดที่มีศิลปะพม่าโบราณเก่าแก่สวยงามทรงคุณค่าของเมืองนครลำปางแห่งหนึ่ง
ภายในวัดมีเจดีย์รูปทรงศิลปะพม่าขนาดใหญ่ถึง 3 องค์ด้วยกัน องค์แรกเรียกว่า “เจดีย์ทอง” มีกำแพงแก้วล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน แต่เดิมยอดเจดีย์ทาสีทอง ปัจจุบันส่วนยอดปิดผิวกรุโมเสดสีทอง องค์ที่ 2 ได้มีการสร้างเจดีย์พระอรหันต์แปดทิศ มีแปดเหลี่ยมมีซุ้มและพระประจำทิศทั้งแปดทิศเพิ่มเติมขึ้นน พ.ศ.2470 มีฤๅษีชื่อ อูส่วยหล่า ได้มาจำศีล ณ ที่แห่งนี้และยังได้ทำหน้าที่หมอรักษาผู้คน โดยใช้สมุนไพรและคาถาอาคม มีผู้คนศรัทธาหลั่งไหลกันมารักษาเป็นจำนวนมาก จึงได้ช่วยกันสร้างเจดีย์พระฤๅษี ขึ้นด้านหลังพื้นที่ของวัด เสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2474 เป็นเจดีย์องค์ที่ 3 พ.ศ.2492 ได้มีพระอาจารย์หลวงพ่อไพฑูรย์ โกสลโล ได้เดินทางมาสอนวิปัสสนากรรมฐานสายสติปัฏฐาน ได้สร้างกุฎิกรรมฐานพระขึ้นจำน วน 25 หลัง เพื่อฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานและปี พ.ศ.2505 ได้สร้างศาลาอบรมธรรม ขึ้นอีกหลังหนึ่งสำหรับพระสงฆ์และเณร ต่อมาเปลี่ยนการใช้ประโยชน์เป็นหอสมุดและห้องธุรการของโรงเรียนพระปริยัติธรรมในเวลาต่อมา
ลักษณะที่ตั้งและอาณาเขต
ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่เป็นลักษณะเนินเขาสูงหรือที่เรียกในภาษาถิ่นเหนือว่า “ม่อนดอย” ตามธรรมเนียมของชาวพุทธล้านนาและพม่าที่มีความเชื่อถือเรื่องภูเขาศักดิ์สิทธิมาแต่เดิม จึงสถานปนาศาสนสถานไว้บนยอดเขา แต่เดิมทางขึ้ันของวัดอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือภายหลังได้สร้างทางลัด มีบันไดขึ้นและซุ้มประตูทางทิศใต้ ต่อมามีการสร้างถนนให้รถยนต์สามารถ ขึ้น-ลง ได้ 2 ทาง เพื่อสะดวกในการเดินทางมาทำบุญที่วัด “ในอดีตพื้นที่วัดมีจำนวนทั้งหมด 300 ไร่ โดยคลอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของวัดจองคำและวัดจองคาและวัดม่อนปูยักต์แต่เนื่องจากมีการขุดคลองชลประทานเกิดขึ้น จึงเกิดการแบ่งแยกพื้นที่ของวัดออกไป ในปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งหมด 70 ไร่ 98 ตารางวา ” (พระครูพิศาล ภัทรกิจ,สัมภาษณ์ 8 สิงหาคม 2563, เจ้าอาวาส)
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดกับ ทางสาธารณประโยชน์และลำเหมืองชลประทาน
ทิศใต้ ติดกับ พื้นที่ว่างเปล่าและลำเหมืองชลประทาน
ทิศตะวันออก ติดกับ พื้นนที่ว่างเปล่า
ทิศตะวันตก ติดกับ พื้นที่เหมืองชลประทาน
โบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญ
พระบรมธาตุเจดีย์
ประดิษฐานพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจดีย์ทรงสถาปัตยกรรม แบบพม่าเรียกว่า เจดีย์ทอง มีกำแพงล้อมรอบทั้ง 4 ต้น ยอดเจดีย์ทาสีทอง มีรูปปั้นสัตว์หิมพานต์นรสิงห์ ตัวเป็นสิงห์หน้าเป็นคนประดับบนฐานเขียงพระบรมธาตุเจดีย์
กำแพงและซุ้มประตูเป็นศิลปะแบบพม่าทั้งหมดมีการบูรณะและเปลี่ยนรูปทรงของเจดีย์ให้งดงามและขนาดใหญ่ขึ้นอีกหลายครั้งในปีพ.ศ. ๒๔๑๐ เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งบนแผ่นดินล้านนา เนื่องจากเป็นโบราณสถานและพุทธสถานที่เก่าแก่อายุ กว่าพันปี
เจดีย์อรหันต์แปดทิศ
เจดีย์อรหันต์ 8 ทิศ มีรูปปั้นองค์พระอรหันต์ประจำ 8 ทิศ ลักษณะงดงาม เป็นเจดีย์มอญฐานกว้างรูปทรงเหมือนเจดีย์พระธาตุนครชุมจังหวัดกำแพงเพชร
เจดีย์พระฤๅษี
เจดีย์พระฤาษี เริ่มการสร้างโดยฤาษี อูส่วยหล่า และคณะศรัทธาเป็นจำนวนมากเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ รูปทรงคล้ายเจดีย์ทององค์แรก ลักษณะงดงามด้านเป็นสถาปัตยกรรมแบบพม่า เป็นเจดีย์รามัญฐานแคบ มีส่วนซุ้มรายรอบเจดีย์ทรงกลม
วิหารไม้สักโบราณ
ลักษณะของวิหารมีความสำคัญและมีลำดับศักดิ์ที่สูงที่สุดของอาคารคือส่วนที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน ตั้งอยู่ภายใต้หลังคาที่สูงที่สุดของอาคาร มีลักษณะเป็น “หลังคาทรงจั่วซ้อนชั้น” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของพุทธสถาปัตยกรรมแบบ พม่า-ไทใหญ่ โดยมีรูปแบบหลังคาแบบ “สองคอ สามชาย” คือ มีการยกคอสอง 2 ชั้น และทิ้งชายคาลงมา 3 ชั้น หรือที่เรียกว่า “เชตวัน” ซึ่งจากภาพถ่ายเก่าบริเวณหลังคาส่วนดังกล่าวยังปรากฏให้เห็นถึงการประดับตกแต่งด้วยลวดลายไม้ฉลุและกระจกอย่างวิจิตรงดงาม โครงสร้างของวิหารสร้างจากไม้ทั้งหมดมีพื้นที่ขนาดใหญ่และส่วนสูงสุดประดิษฐานพระพุทธรูปองค์พระประธาน 3 องค์ รูปแบบมัฑเลย์ของพม่า เป็นปูนปั้นสีขาวห่มจีวรมีจีบริ้วระบายสีทอง มีการตกแต่งด้วยไม้แกะสลักเป็นดาวเพดานประดับด้วยแก้วคริสต์มาส รวมไปถึงการตกแต่งด้วยไม้แกะสลักรูปเจ้าชายสิทธัตถะทรงม้าออกผนวชบริเวณโถงหน้าห้องพระประธาน
วิหารพระเจ้าทันใจและพระพุทธรูปศิลปะพม่า
หลวงพ่อทันใจพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์บนม่อนดอยซึ่งคนโบราณได้สร้างและออกแบบไว้ใจกลางเมืองโบราณอย่างโดดเด่น โดยวิหารที่ประดิษฐานหลวงพ่อทันใจ สร้างคร่อมบนตอไม้เก่าแก่ขนาดใหญ่ ประดิษฐาน ณ วิหารพระเจ้าทันใจ วัดม่อนจำศีล
ซุ้มประตูโขงโบราณ
ซุ้มประตูโขงโบราณที่มีความสำคัญและเก่าแก่ มีไม่กี่แห่งในวัดภาคเหนือ
โครงการที่จัดตั้งภายในวัด
จากความประสงค์ของเจ้าอาวาสวัดพระธาตุม่อนจำศีล ต้องการให้วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ที่สร้างประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน จึงเกิดโครงการต่างๆขึ้นมา กล่าวคือ
โครงการสำหรับประชาชน
1. คลีนิกแพทย์แผนไทยวัดม่อนจำศีล
2. สถานบันโพธิ์อาตม์
3. สำนักเรียนพระอภิธรรม
4. ศูนย์ศึกษาพระพระพุทธศาสนา วันอาทิตย์
โครงการสำหรับสามเณร
1. โรงเรียนปริยัติ์วัดม่อนจำศีล
2. สำนักศาสศึกษาแผนกธรรมบาลี
ประเพณีและกิจกรรม
1. ประเพณีสรงน้ำพระธาตุประจำปี
ประเพณีที่จัดขึ้นตั้งแต่เริ่มก่อตั้งวัด จัดขึ้นในช่วงเดือน 7 เป็งล้านนาหรือช่วงตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม – ปลายเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นประเพณีสรงน้ำพระธาตุพร้อมกันทั้ง 3 เจดีย์
2. ประเพณีตักบาตรเทโว
เป็นประเพณีที่มีมาแต่ดั้งเดิม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 จัดขึ้นในช่วงวันแรม 1 ค่ำ หรือวันหลังจากวันออกพรรษา 1 วัน
การเดินทาง
ทางเข้าวัดม่อนจำตั้งอยู่บนถนนพหลโยธินอำเภอพะเยาทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 และใช้เส้นทางทางหลวงชนบทหมายเลข 7075 พื้นที่ตั้งของวัดอยู่ติดกับวิทยาลัยสารพัดช่างลำปางระยะทางห่างจากตัวเมืองลำปางประมาณ 3 กิโลเมตร
ที่อยู่
เลขที่ 15 ถนนม่อนจำศีล ชุมชนบ้านป่าขาม หมู่ที่ 1 ตำบลพระบาท อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
เวลาทำการ วันจันทร์ – วันอาทิตย์ เวลา 06.00 น – 18:00 น.
เบอร์โทรศัพท์ 054 223 291 , 094 792 9899