วัดป่าตันกุมเมือง
ประวัติวัดป่าตันกุมเมือง
วัดป่าตันกุมเมือง เป็นวัดที่มีความสำคัญอย่างสมบูรณ์ทั้งทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของจังหวัดลำปาง กรมศิลปากรได้สำรวจเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุแห่งชาติเพื่อรับปีการเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ. 2530
วัดป่าตันกุมเมือง ตั้งอยู่เลขที่ 211 บ้านป่าตันกุมเมือง หมู่ที่ 5 ตำบลปงแสนทอง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1727 ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาประมาณ พ.ศ. 2486 มีอาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ พระธาตุเจดีย์ และปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือพระพุทธรูปปางสมาธิ 2 องค์
วัดป่าตันกุมเมืองปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์ มีมาก่อนสมัยทิพยจักราธิวงศ์ เป็นวัดในตระกูลอรัญญาวาสีอยู่ขอบป่าพุทรา หรือป่าตันหน้าสนามลำปาง
ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2272-2275 วัดป่าตันกุมเมืองได้เป็นจุดรวมพลของคณะสงฆ์ เพื่อช่วยรักษาบ้านเมือง ได้รวมพลอาสาเป็นค่าด่านหน้าเมืองนครลำปาง รับศึกกองทัพท้าวมหายศลำพูน วัดป่าตันกุมเมือง มีพระมหาเถรสุริยะอรัญวาสี เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก สมัยนครลำปางเป็นประเทศราช มีระบบการปกครอง ชั้นราชาคณะปกครองฝ่ายสงฆ์ วัดป่าตันกุมเมืองเป็นวัดจำพรรษาของครูบามหาป่ามาแต่โบราณ ต่อมาสมัยเจ้าหลวงนรนันชัย ชวลิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง ได้เห็นสภาพทรุดโทรมและตระหนักถึงความสำคัญของวัดป่าตันกุมเมือง อันเป็นวัดรักษาบ้านเมืองและมีความสำคัญในประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยกู้บ้านกู้เมืองจึงมีการบูรณะก่อสร้างให้คงอยู่สวยงามตลอดไป
ประวัติศาลเจ้าอารักษ์ รักษาบ้านเมือง 3 ตน
ประวัติความเป็นมาของวัดป่าตันกุมเมืองกับการรักษาบ้านเมือง เหตุการณ์สำคัญในการใช้วัดป่าตันกุมเมืองเป็นที่มั่นในการกู้ข้าศึก ในประวัติศาสตร์จากพงศาวดารโยนกระหว่าง พ.ศ. 2212 – 2215 นครลำปาง มีพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดนายาง มีวิทยาคม และนับถือว่าเป็นผู้มีบุญผู้คนจึงพากันมาเป็นบริวารจำนวนมาก สมภารวัดสามขากับสมภารวัดบ้านฟ่อนก็ลาสิกขาออกมาเป็นเสนาซ้ายขวาของสมภารวัดนายาง จึงทำให้เกิดเป็นช่องขั้นมาก๊กหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ ศาลเจ้าอารักษ์รักษาบ้านเมือง 3 ตน จึงได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออุทิศแด่ตนบุญเสด็จวัดนายาง 1 หลัง อดีตสมภารวัดสามขา 1 หลัง และอดีตสมภารวัดบ้านฟ่อนอีก 1 หลัง ซึ่งท่านได้ชื่อว่าเป็นผู้เสียชีวิตเพื่อรักษาบ้านเมืองจากข้าศึกศัตรูในครั้งนั้น จึงร่วมกันตั้งศาลขึ้นเพื่อเป็นการสืบทอดประเพณี การสร้างศาลาอารักษ์บ้านเมือง เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงการสักการะวิญญาณผู้มีพระคุณรักษาบ้านเมืองเมื่อปี พ.ศ. 2529 ศาลเจ้าอารักษ์รักษาบ้านเมือง 3 ตนนี้ถือว่าเป็นหลักฐานชั้นรองที่ได้สร้างขึ้นมาหลังจากเกิดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์
ประวัติพระเจ้าทันใจ พี่น้อง 2 องค์
พระเจ้าทันใจพี่น้อง 2 องค์ ของวัดป่าตันกุมเมือง ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดป่าตันกุมเมือง มีหน้าตักกว้าง องค์ละ 2 ศอก ส่วนสูงจากฐานพระบัลลังก์ถึงปลายพระรัศมีเมาสีขาว 2 ศอก 3 คืบ เท่ากัน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สังฆาฎิยา ศิลปะล้านนา ทำมาจากสำริดนวโลหะทองคำ
ตำนานการสร้างพระเจ้าทันใจพี่น้องสององค์
พระเจ้าทันใจพี่น้อง 2 มีตำนานว่าพระพุทธรูป 2 องค์นี้เป็นพระพุทธรูปประจำตำแหน่งโอรสคู่แฝดของพระนางจามเทวี คือ พระเจ้ามหันตยศองค์พี่ กษัตริย์หริภุญไชยและพระเจ้าอินทรเกิงกร กษัตริย์เขลางค์นคร
พระเจ้าทันใจพี่น้อง 2 องค์ เป็นพระพุทธรูปที่มีฝีมือการสร้างอันวิจิตรทั้งในด้านฝีมือ ปัจจัย และขนาดขององค์พระ สามารถสร้างเสร็จในวันเดียวกันพร้อมกันได้ จึงเป็นที่มาของชื่อพระเจ้าทันใจ นับว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ของผู้ทรงบารมีของบ้านเมือง จึงมีการค้นคว้าหลักฐานหลาย ๆ อย่าง ประกอบทางตำนานและประวัติศาสตร์
ประวัติพระธาตุเจดีย์สมัยหอคำดวงทิพย์
พระธาตุวัดป่าตันกุมเมือง สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าหอคำดวงทิพย์ หอคำนครลำปาง และเจ้าหลวงคำฟั่น เศรษฐีเชียงใหม่ ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดป่าตันกุมเมือง กำหนดพระราชทานฤกษ์สร้าง (บูรณะ) เจดีย์วัดป่ากุมเมืองโดยมีหลักฐานจารึกสร้างในสมัย จ.ศ. 1185 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อเดือน 4 ขึ้น 3 ค่ำ วันเสาร์ ตรงกับปี พ.ศ. 2366 เป็นเจดีย์ทรงดอกจำปา 8 กลีบ ฐานกว้าง 6 เมตร สูง 12 เมตร ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังพระวิหารวัดป่าตันกุมเมือง
พระครูเรือน สุธรมฺโม
ประวัติความเป็นมาของ พระครูเรือน สุธมฺโม
พระครูเรือน สุธรมฺโม อายุ 84 ปี พรรษา 64 นักธรรมชั้นตรี เดิมชื่อเรือน ฉัตรปวงคำ เกิดเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2445 ตรงกับวันศุกร์ขึ้น 10 ค่ำเดือน 10 ใต้ ปีขาลเป็นบุตรคนที่ 3 ของนายอ้าย นางคำ ฉัตรปวงคำ
เมื่อปี พ.ศ. 2506 ท่านพระครูเรือน สุธรมฺโม ได้ปรึกษากับคณะศรัทธาบ้านป่าตันกุมเมือง ว่ามีความประสงค์จะก่อตั้งโรงเรียน และจะสร้างอาคารเรียนไว้ให้เป็นอาคารตึกซึ่งแต่เดิม ที่ใช้เรียนเป็นอาคารไม้และเก่าแก่มาก ไม้ที่ใช้เป็นก่อสร้างเกิดการผูกร่อน แตกร้าว ตลอดจนเสาไม้ก็เปื่อยยุ่ย อยู่ใต้ดิน ทำให้ตัวอาคารไม้เอนตัว เวลาลมพัดก็เกรงว่าจะเป็นอันตรายแก่เด็กนักเรียน และต้องการให้ลูกหลายมีที่ศึกษาเล่าเรียนจึงสร้างอาคารเรียนที่มั่นคงถาวรขึ้นมา 1 หลัง ซึ่งปัจจุบัน ก็คือโรงเรียนบ้านป่าตันกุมเมืองนั่นเอง
วัดป่าตันกุมเมืองกับประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าแม่จามเทวี วัดป่าตันกุมเมืองแห่งนี้มีของดีคือพระพุทธรูปทองคำสองพี่น้อง และมีเจดีย์ที่เก่าแก่ ซึ่งเป็นของศักดิ์สิทธิ์ชาวบ้านนับถือเคารพบูชา และข่าวนี้ได้แผ่ขยายเป็นวงกว้างออกไปทั่วล้านนา และข่าวนี้ทราบถึงเจ้าแม่จามเทวี
ในช่วงปี พ.ศ. 1251-1257 เจ้าแม่จามเทวีจึงได้ชักชวน เสนาอำมาตย์และบริวารทั้งหลายพากันเดินทางมากราบสักการะบูชา พระพุทธรูปทองคำสองพี่น้อง และเจดีย์ ระหว่างการเดินทางมาจากเมืองหริภุญชัย (จังหวัดลำพูน) ถึงวัดป่าตัน ได้ผ่านมาหลายหมู่บ้าน มีอยู่หมู่บ้านหนึ่ง ชาวบ้านหมู่บ้านนั้นทราบข่าวการเดินทางมาของเจ้าแม่จามเทวีชาวบ้านจึงได้นำสินค้าออกมาวางขายตามข้างถนนหนทาง พอเจ้าแม่จามเทวีเดินทางผ่านมาถึงบริเวณหมู่บ้านแห่งนี้ เห็นชาวบ้านนำสินค้ามาวางขายตามข้างถนนหนทาง จึงได้เอ่ยคำพูดขึ้นว่าหมู่บ้านแห่งนี้น่าจะเป็นกาด (ตลาด)
และต่อมาชาวบ้านได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านกาด (บ้านกาดใต้ หมู่ที่ 7 ตำบลปงแสนทอง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ในปัจจุบัน) แล้วก็เดินทางมากราบสักการะบูชาของดีแห่งวัดป่าตัน
และต่อมาอีกนานเท่าไหร่และเหตุใดไม่ทราบได้ มีผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันว่าวัดป่าตันไม่มีพระภิกษุสงฆ์มาจำวัดอยู่ขาดการดูแลรักษา จึงได้มีต้นไม้ต้นหญ้าขึ้นเต็มบริเวณวัด และมีเถาวัลย์เลื้อยเจดีย์เต็มไปหมด จึงได้กลายเป็นวัดร้าง ต่อมาชาวบ้านเห็นควรว่า ควรจะบูรณะวัดแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นที่บำเพ็ญกุศลทางพุทธศาสนา เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจของชาวบ้าน จึงได้ตั้งขึ้นมาเป็นวัดอีกครั้งในปี พ.ศ. 1729 แล้วมาประกอบพิธีผูกพัทธสีมา ประมาณ พ.ศ. 2486 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 4 เมตร ยาว 9 เมตร ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2272–2275 มีทหารพม่าได้บุกเข้ามายึดนครลำปาง นำทัพโดยท้าวมหายศมาจากเมืองหริภุญชัย ได้บุกยึดนครลำปางได้ครั้งหนึ่ง แล้วยึดเอาวัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นฐานทัพ เพื่อจะบุกเข้ามายึดครองเมืองนครลำปาง ระหว่างทางนำทัพจากวัดพระธาตุลำปางหลวงเข้าตีเมืองนครลำปางต้องผ่านวัดป่าตัน แต่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นไม่ยอมให้ทัพพม่าผ่านไปได้โดยง่าย และชาวบ้านได้รวมพลังสามัคคีช่วยกันตั้งทัพต่อสู้ศึกพม่า เพื่อคุ้มครองป้องกันเมืองนครลำปาง โดยการนำทัพของสมภารวัดนายาง ซึ่งเป็นพระภิกษุในขณะนั้น มีวิชาอาคมเลี้ยงภูตพรายสำแดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ชนทั้งหลายในจังหวัดนั้นพากันนิยมนับถือว่าเป็นผู้มีบุญ จึงพากันมาเป็นบริวารมาก สมภารวัดสามขาม, วัดบ้านฟ่อน ก็พากันออกศึกมาเป็นเสนาขวา ซ้าย ของสมภารวัดนายางผู้มีบุญนั้น เกิดเป็นช่องขึ้นกักหนึ่ง รวมไพร่พลตั้งทัพสู้กับทัพของพม่า สู้กันอยู่หลายวันผลสุดท้ายน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ ชาวบ้านป่าดงตันก็พ่ายแพ้แก่ทหารพม่าเพราะกำลังพลไม่ได้รับการฝึกฝนในการสู้รบ และอาวุธก็สู้เขาไม่ได้ ทัพค่ายบ้านป่าดงตันก็แตกสลายพ่ายแก่ทัพของพม่า วัดป่าตันจึงถูกพม่ายึดครอง แล้วต่อมาเจ้าพ่อหนานทิพย์ช้างได้กอบกู้ต่อสู้คืนมาได้สำเร็จ โดยข้ามกำแพงด้วยการลอดทางระบายน้ำ บุกเข้ายิงท้าวมหายศเสียชีวิตที่วัดลำปางหลวง ทัพของพม่าจึงแตกพ่ายหนีไป และวัดป่าตันจึงได้ชื่อใหม่ว่า “วัดป่าตันตุ้มเมือง” (ตุ้ม หมายถึง พยุงเมืองนครลำปางไว้) และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นวัดป่าตันกุมเมือง (กุม หมายถึง ป้องกัน หรือ คุ้มครอง) ในปี พ.ศ. 2418 วัดป่าตันกุมเมืองได้เปิดการศึกษา มีโรงเรียนปริยัติธรรมแผนธรรมะสอนแก่พระเณรและชาวบ้านผู้ที่สนใจ วัดป่าตันกุมเมืองมีการบริหารและปกครองโดยมีเจ้าอาวาส 7 รูป คือ พระมหาป่า, พระอธิการปินตา, พระอธิการปินใจ, พระวินัยธรนิ่ง พ.ศ. 2490–2497 พระอธิการคำอ้าย ศรีธมโม พ.ศ. 2489 พระอธิการเรียน สุธมโม, พระครู หล้า ฐิตจิตโต ปัจจุบันวัดป่าตันกุมเมือง มีเนื้อที่ 13 ไร่ 1 งาน 93 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 23403, 23404 อาณาเขตทิศเหนือประมาณ 5 เส้น 5 วา จรดหมู่บ้าน ทิศใต้ประมาณ 4 เส้น 4 วา 1 ศอก จรดถนนสาธารณะ ทิศตะวันออกประมาณ 4 เส้น 8 วา 1 ศอก จรดทุ่งนาและสวนเอกชน ทิศตะวันตกประมาณ 1 เส้น 1 งาน จรดโรงเรียนบ้านป่าตันกุมเมือง