เทศบาลเมืองเขลางค์นคร ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคมือ เท้า ปาก ในช่วงก่อนฤดูการระบาด

นายไพฑูรย์ โพธิ์ทอง นายกเทศมนตรีเมืองเขลางค์นคร เปิดเผยว่า ทางเทศบาลเมืองเขลางค์นครได้รับหนังสือ จากกระทรวงมหาดไทยในการดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคมือ เท้า ปาก จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ปี 2558 ของกระทรวงสาธารณสุข พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 40,517 ราย เสียชีวิต 3 ราย คิดเป็นอัตราป่วยร้อยละ 62.21 ต่อแสนประชากร เมื่อเทียบกับ ปี 2557 มีจำนวนผู้ป่วยลดลงจำนวน 24,713 ราย คิดเป็นร้อยละ 38 โดยส่วนใหญ่พบทั้งวัยเด็กเล็กและเด็กโต โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในการดูแลของสถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล ซึ่งมีเด็กอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก แม้ว่าส่วนใหญ่จะมีอาการของโรคที่ไม่รุนแรง แต่บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ และเทศบาลเมืองเขลางค์นครมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัด จำนวน 12 แห่ง มีจำนวนเด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้มีการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคมือ เท้า ปาก มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรคมือ เท้า ปาก มีรายละเอียดของโรค ดังนี้
โรคมือ เท้า ปาก คือโรค
กลุ่มอาการหนึ่งของโรคติดเชื้อเอนเทอโรไวรัส จะมีอาการป่วย คือ มีไข้ มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบในปาก มักพบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม และเกิดผื่นแดงซึ่งจะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆ แดงมักไม่คัน เวลากดจะเจ็บ ที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ และฝ่าเท้า บางรายอาจไม่พบอาการตุ่มพองในปาก ฝ่ามือ หรือฝ่าเท้า แต่มาด้วยภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดบวมน้ำ และเสียชีวิตได้ โรคนี้พบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบน้อยลงในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี และพบน้อยมากในเด็กวัยรุ่น
โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อได้อย่างไร
โรคมือ เท้า ปาก มักติดต่อโดยการได้รับเชื้อจากอุจจาระ ฝอยละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือน้ำในตุ่มพอง หรือแผลของผู้ป่วยเข้าสู่ปาก การติดต่อทางน้ำหรืออาหารมีโอกาสเกิดได้น้อยมาก การแพร่เชื้อ ติดต่อเกิดขึ้นค่อนข้างง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย และแม้อาการทุเลาลงแล้ว ยังอาจแพร่เชื้อได้บ้าง เนื่องจากเชื้อจะถูกขับออกมากับอุจจาระได้นานถึง 6-8 สัปดาห์
อาการของโรคเป็นอย่างไร
เริ่มด้วยไข้ อาจเป็นไข้สูงในช่วง 1-2 วันแรก และลดลงเป็นไข้ต่ำๆ อีก 2-3 วัน มีจุดผื่นแดงอักเสบในปาก มักพบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ทำให้เจ็บปากไม่อยากทานอาหาร จะเกิดผื่นแดงซึ่งจะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆ แดง ที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่อื่น เช่น ก้น หัวเข่า ฯลฯ ผื่นนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆแดง มักไม่คันแต่เวลากดจะเจ็บ ต่อมาจะแตกออกเป็นหลุมตื้นๆ อาการจะดีขึ้นและแผลหายไปใน 7-10 วัน
ในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ก้านสมองอักเสบ ตามด้วยปอดบวมน้ำ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และระบบหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้ สัญญาณอันตราย ได้แก่ ไข้สูงไม่ลด ซึม อาเจียนบ่อย หอบ และแขนขาอ่อนแรง เกิดภาวะอัมพาตคล้ายโปลิโอ
การรักษาโรคมือ เท้า ปาก
โดยส่วนใหญ่จะรักษาตามอาการเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เช่น การใช้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด แต่ไม่มียาต้าน ไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ โรคนี้หากผู้ป่วยรับประทานได้พักผ่อนเพียงพอ ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรงและหายเองได้ในช่วง 7-10 วัน แต่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเด็กทารก เด็กเล็ก และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เพื่อสังเกตอาการแทรกซ้อนที่อาจรุนแรงถึงเสียชีวิตและส่งผู้ป่วยเข้ารับการ รักษาได้ทันท่วงที
การป้องกันโรคมือ เท้า ปาก
โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่จะป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี เช่น การล้างมือด้วยน้ำและสบู่ เป็นประจำหลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก และก่อนรับประทานอาหารหรือป้อนอาหารเด็ก รวมถึงการไม่คลุกคลีใกล้ชิด ใช้ภาชนะอาหาร หรือของใช้ร่วมกับผู้ป่วย ร่วมกับการรักษาความสะอาดทั่วๆไป การจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น ห้องน้ำ ห้องส้วม ห้องครัวให้ถูกสุขลักษณะ
หากมีเด็กป่วยจำนวนมากในโรงเรียน หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก ควรทำอย่างไร
มาตรการช่วงที่เกิดโรคระบาดต้องเน้นสกัดกั้นการแพร่กระจายของเชื้อ ซึ่งอาจมีความจำเป็นต้องประกาศเขตติดโรคและปิดสถานที่ เช่น สถานที่รับเลี้ยงเด็กอ่อน โรงเรียนเด็กเล็ก รวมถึงสระว่ายน้ำ สถานที่แออัด เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับเด็กป่วย และเน้นการล้างมือบ่อยๆรวมถึงการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในโรงพยาบาลและบ้านเรือน ที่มีผู้ป่วย ในส่วนของผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้จัดการสถานรับเลี้ยงเด็ก ควรดำเนินการ ดังนี้
– แจ้งการระบาดไปที่หน่วยงานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สอบสวนการระบาดให้ความรู้ และคำแนะนำ
– เผยแพร่คำแนะนำ เรื่องมือ เท้า ปาก แก่ผู้ปกครองและเด็กนักเรียน รวมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมอนามัยที่ช่วยกันป้องกันโรคติดต่อ โดยเฉพาะการล้างมือและการรักษาสุขอนามัยของสภาพแวดล้อม และควรแยกของใช้ไม่ให้ปะปนกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อนอาหาร ฯลฯ
– เฝ้าระวังโดยการตรวจเด็กทุกคน หากพบคนใดที่มีอาการโรคมือ เท้า ปาก ต้องรีบแยกออกและให้หยุดเรียน 7-10 วัน หรือจนกว่าจะหายป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่นๆ
– ควรรีบพาเด็กป่วยไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว และดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด
– พิจารณาปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วยหรือปิดทั้งโรงเรียนชั่วคราว (กรณีมีเด็กป่วยหลายห้อง หรือหลายชั้นเรียน) ประมาณ 5-7 วัน
– ทำความสะอาดสถานที่เพื่อฆ่าเชื้อโรค บริเวณห้องน้ำ ห้องส้วม สระว่ายน้ำ ครัว โรงอาหาร บริเวณที่เล่นของเด็ก สนามเด็กเล่น โดยใช้สารละลายเจือจางของน้ำยาฟอกขาว (20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1 ลิตร) หรือน้ำยาทำความสะอาดที่ใช้ตามบ้านเรือน แล้วเช็ดล้างด้วยน้ำสะอาด
– ทำความสะอาดของเล่น ของใช้เด็ก ด้วยการซักล้างและผึ่งแดดให้แห้ง
– หยุดใช้เครื่องปรับอากาศ เปิดประตู หน้าต่าง ผ้าม่าน ให้แสงแดดส่งให้ทั่วถึง
เทศบาลร่วมส่งความห่วงใย และรณรงค์ป้องกันโรคมือ เท้า ปาก อย่างใกล้ชิด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในเขตพื้นที่ต่อไป

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า