วันเอดส์โลก 1 ธันวาคม 2559

1 ธันวาคม ของทุกปี World AIDS Day

“ตรวจเร็ว รักษาเร็ว ยุติเอดส์” ตรวจ ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง และทุกสิทธิการรักษา

ดูภายนอกไม่รู้ ต้องดู ผลเลือด คนที่มีเชื้อเอชไอวี อยู่ในร่างกาย ไม่สามารถมองออกได้ด้วยตาเปล่า ถึงแม้จะดูดีสะอาด สวย หล่อ เรียบร้อย ซึ่งหากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันแม้เพียงครั้งเดียว ก็สามารถติดเชื้อเอชไอวีได้

“ถ้ารู้เร็ว ก็ดูแลตัวเองได้เร็ว” การตรวจและรักษาอย่างเนิ่นๆนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดูแลร่างกาย และชีวิต

การตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี

  • สามารถลดความวิตกกังวลหลังจากที่มีพฤติกรรมเสี่ยง
  • ถ้าไม่ได้ติดเชื้อจะได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ให้ปลอดภัย
  • ถ้าติดเชื้อจะได้รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ป้องกันการรับเชื้อเพิ่ม หรือไม่แพร่เชื้อให้คนอื่นๆ และเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
  • หากติดเชื้อจะสามารถเข้าถึงบริการดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว ก่อนป่วยด้วยโรคแทรกซ้อน

เอชไอวี/เอดส์ คืออะไร ?

เอดส์ (AIDS) ย่อมาจาก Acquired Immune Deficiency Syndrome คือ กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อม เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นเพราะร่างกายได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งตัวไวรัสจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาวของร่างกาย ทำให้เม็ดเลือดขาวชนิด ซีดี 4 ลดน้อยลง จึงง่ายต่อการติดเชื้อโรคฉวยโอกาส เช่น วัณโรคปอด ปอดอักเสบ เป็นต้น

“เอดส์ ป้องกันได้ ด้วยการใช้ถุงยางอนามัย ทุกครั้ง กับทุกคน ทุกช่องทาง”

ปัจจัยและโอกาสเสี่ยงในการรับเชื้อเอชไอวี การที่คนๆหนึ่งจะรับเชื้อเอชไอวี (HIV) เข้าสู่ร่างกายได้จะต้องประกอบด้วย 3 ปัจจัย ดังนี้

  1. ปริมาณและแหล่งที่อยู่ของเชื้อ (Quantity and Source)
  • ต้องมีจำนวนเชื้อเอชไอวีในปริมาณที่มากพอในสารคัดหลั่งที่เป็นที่อยู่ของเชื้อ ซึ่งเชื้อเอชไอวี มีปริมาณมากในเลือด รองลงมาคือน้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด และน้ำนมแม่ตามลำดับ
  • เชื้อเอชไอวี มีชีวิตอยู่ในคนเท่านั้น
  1. คุณภาพของเชื้อ (Quality)
  • เชื้อเอชไอวีไม่สามารถมีชีวิตอยู่นอกร่างกายคนได้
  • สภาพในร่างกายและสภาพแวดล้อมบางอย่าง มีผลทำให้เชื้อไม่สามารถอยู่ได้ เช่น สภาพที่เป็นกรดหรือเป็นด่างในน้ำลาย ในกระเพาะอาหาร สภาพอากาศ ความร้อน ความแห้ง ความชื้น ฯลฯ
  1. ช่องทางการติดต่อ (Route of Transmission)

ไวรัสเอชไอวีจะต้องถูกส่งผ่านจากคนที่มีเชื้อไปยังอีกคนหนึ่ง โดยเชื้อจะต้องตรงเข้าร่างกาย ได้ 3 ช่องทาง คือ

  • ทางเพศสัมพันธ์แบบสอดใสโดยไม่ได้ป้องกัน
  • ทางเลือด เช่น การใช้เข็มหรือกระบอกฉีดยาเสพติดร่วมกับคนที่มีเชื้อเอชไอวี
  • ทางการติดต่อจากแม่ที่มีเชื้อเอชไอวีสู่ลูก

*** หากขาดปัจจัยข้อใดข้อหนึ่ง ก็ไม่สามารถทำให้ติดเชื้อเอชไอวีได้ ***

ประเด็นคำถามที่ต้องการคำตอบ

  1. จะติดเอดส์ ? หากทำ Oral sex (เพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก) กับคนที่มีเชื้อ HIV การทำ Oral sex ให้ผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี ถึงแม้ มีโอกาสสัมผัสกับน้ำอสุจิหรือน้ำจากช่องคลอด แต่หากผู้ที่ทำ Oral sex ไม่มีแผลที่เยื่อบุในช่องปากหรือคออักเสบ ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี เพราะเชื้อเอชไอวี ไม่มีช่องทางเข้าสู่ร่างกายได้นั่นเอง
  2. การช่วยตัวเองจะติดเอดส์ได้หรือไม่ ? การช่วยตัวเองไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี แต่ควรระวังเรื่องความสะอาด หรือไม่ทำรุนแรงจนเกิดบาดแผล
  3. มีโอกาสรับเชื้อเอชไอวีจากใบมีดโกนที่ร้านตัดผมหรือไม่ ? โดยทั่วไปช่างจะเปลี่ยนใบมีดโกน หรือทำความสะอาดใบมีดโกนก่อนใช้ครั้งต่อไป ทำให้ไม่มีโอกาสสัมผัสเลือดที่มีเชื้อเอชไอวี ฉะนั้นจึงไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี
  4. รับประทานอาหาร หรือใช้ของร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้หรือไม่ ? เชื้อเอชไอวี ไม่ติดต่อโดยการสัมผัส การรับประทานอาหาร การสนทนา การทำงาน หรือการใช้ของร่วมกันกับผู้ติดชื้อเอชไอวี

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า